ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :
กระเพาะปัสสาวะ ระบบทางเดินปัสสาวะ
อาการที่เกี่ยวข้อง :
ทั่วไป
นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ (Vesical calculi หรือ Urinary bladder stone หรือ Bladder stone) พบประมาณ 5% ของนิ่วในทางเดินปัสสาวะ (ไต หลอดไต และกระเพาะปัสสาวะ) ทั้งหมด และพบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุโดยพบในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิง
นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ เป็นโรคพบได้ประปรายในประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่พบได้บ่อยพอควรในบ้านเรา โดยเฉพาะในคนภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ มีได้ตั้งแต่ขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตร (ซ.ม.) ไปจน ถึงใหญ่ได้มากกว่า 5 ซ.ม. อาจมีก้อนเดียว หรือหลายๆก้อน อาจมีลักษณะแข็งมาก แข็งพอประมาณ จนถึงค่อนข้างนุ่ม ทั้งนี้ขึ้นกับชนิด หรือ สารที่เป็นส่วนประกอบของนิ่ว
นิ่วในกระเพาะปัสสาวะมีได้หลายชนิด ทั้งนี้ขึ้นกับ สาเหตุ ถิ่นที่อยู่อาศัย และอาหาร ชนิดของนิ่วที่พบได้ คือ
- แคลเซียมออกซาเลต (Calcium oxalate) ซึ่งพบได้บ่อยที่สุด ประมาณ 80 %
- แคลเซียมฟอสเฟต (Calcium phosphate)
- แอมโมเนียมยูเรท (Ammonium urate)
- กรดยูริค (Uric acid)
- แมกนีเซียมแอมโมเนียมฟอสเฟต (Magnesium ammonium phosphate)
- และซีสเตอีน (Cysteine)
โดยนิ่วแต่ละก้อน อาจประกอบด้วยสารใดสารหนึ่งเพียงชนิดเดียว หรือสารหลายๆชนิดผสมปนกัน
นิ่วในกระเพาะปัสสาวะเกิดได้อย่างไร?
กลไกการเกิดโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ คือ จากมีการตกตะกอนของสารที่ประกอบขึ้นเป็นนิ่วดังกล่าวแล้วในกระเพาะปัสสาวะเมื่อเกิดเรื้อรัง สารเหล่านี้จึงรวมตัวกัน เกิดเป็นก้อน ซึ่งคือ นิ่วนั่นเอง โดยสาเหตุที่ทำให้สารเหล่านี้ตกตะกอนได้ง่าย มักเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน แต่อาจเกิดจากสาเหตุเดียวได้ สาเหตุต่างๆ ได้แก่
- จากการกักค้างของปัสสาวะเรื้อรังในกระเพาะปัสสาวะ อัมพฤกษ์/อัมพาต หรือโรคกระบังลมหย่อนในผู้หญิง หรือ จากดื่มน้ำน้อย ที่พบได้บ่อย คือ จากมีการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ เช่น จากท่อปัสสาวะตีบแคบ อาจตั้งแต่กำเนิด (โรคทางพันธุกรรม) ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของนิ่วในกระเพาะปัสสาวะในเด็ก หรือจากโรคต่อมลูกหมากโตในผู้ชายตั้งแต่วัยกลางคนขึ้นไป หรือจากโรคทางสมอง หรือ ประสาท ที่ทำให้ปัสสาวะไม่คล่อง
- จากมีปริมาณสารตกตะก่อนต่างๆสูงดังกล่าวแล้วในปัสสาวะ
- จากกระเพาะปัสสาวะมีการระคายเคืองเรื้อรัง
- จากมีนิ่วหลุดลงมาจากไต แล้วมาสะสมโตขึ้นในกระเพาะปัสสาวะ
- จากมีปริมาณสารตกตะกอนต่างๆสูงในปัสสาวะ เช่น จากดื่มน้ำน้อย จากกินอาหารที่มีสารเหล่านั้นสูง เช่น แคลเซียมจากการเสริมอาหารด้วยเกลือแร่แคลเซียมในปริมาณสูง จากกินอาหารที่มีออกซาเลตสูง หรือสูงปานกลางต่อ เนื่อง (โยเกิร์ต ถั่วรูปไต ถั่วเหลือง งา ลูกนัท ผลเบอร์รีต่างๆ มะเดื่อ แครอท บีทรูท มะเขือ ผักกะหล่ำ หน่อไม้ฝรั่ง บรอคโคลิ หัวหอม มะเขือเทศ ผักกะเฉด และยอดผักทั้งหลาย)
- จากกระเพาะปัสสาวะมีการระคายเคืองเรื้อรัง เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง การใส่สายสวนปัสสาวะเรื้อรัง เช่น ในผู้ป่วยอัมพาต หรือมีโรคถุงในกระเพาะปัสสาวะ (Diverticulum)
- จากมีนิ่วหลุดจากไตแล้วมาโตในกระเพาะปัสสาวะ กรณีนี้จะตรวจพบนิ่วในไตร่วมด้วยเสมอ
-
นิ่วในกระเพาะปัสสาวะมีอาการอย่างไร?
-
อาการพบบ่อยของโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ คือ มักไม่ค่อยมีอาการ แพทย์ตรวจพบโดยบังเอิญจากเอกซเรย์ช่องท้องจากโรคอื่นๆ เช่น ปวดท้อง หรือปวดหลัง แต่เมื่อมีอาการ อาการที่พบได้บ่อย คือ
- ปวดท้องน้อยเรื้อรัง อาจร่วมกับปวดหลังเรื้อรัง
- อาจปัสสาวะเป็นเลือด อาจขุ่นผิดปกติ อาจมีก้อนนิ่วหลุดออกมาด้วย
- การปัสสาวะผิดปกติ เช่น บ่อย เบ่ง ปวดแสบปวดร้อน สะดุด กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- กระเพาะปัสสาวะอักเสบบ่อย (ปวดท้องน้อย ปวดหลัง ปัสสาวะปวดแสบปวดร้อนโดยเฉพาะตอนปัสสาวะสุด มีไข้ปวดเนื้อตัว อาจปวดข้อร่วมด้วย)
แพทย์วินิจฉัยนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้จาก ประวัติอาการ การตรวจร่าง กาย การตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ภาพช่องท้อง และอาจมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับอาการผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจเลือดดูการทำงานของไต การส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น
รักษานิ่วในกระเพาะปัสสาวะอย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคนิ่วในกระเพาะขึ้นกับ อาการของผู้ป่วย ขนาดก้อนนิ่ว และสาเหตุของนิ่ว
การรักษาก้อนนิ่ว มีได้ตั้งแต่ดื่มน้ำมากๆเมื่อก้อนนิ่วมีขนาดเล็กกว่า 1 ซ.ม.เพื่อช่วยให้ขับนิ่วออกมาเอง การสลายนิ่วด้วยคลื่นเสียง ไปจนถึงการผ่าตัดกระ เพาะปัสสาวะเพื่อเอานิ่วออกเมื่อก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่
การรักษาสาเหตุ เช่น ดื่มน้ำมากๆเมื่อโรคเกิดจากดื่มน้ำน้อย การผ่าตัดต่อมลูกหมากเมื่อมีต่อมลูกหมากโตอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ และแนะนำการบริโภคอาหารที่มีสารประกอบของนิ่วต่ำ (แพทย์ทราบได้จากการสอบถามเรื่องอาหาร และการตรวจก้อนนิ่วทางห้องปฏิบัติการเพื่อดูสารประกอบของนิ่ว)
การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ยาแก้ปวด ยาลดไข้ หรือยาปฏิชีวนะเมื่อมีกระเพาะปัสสาวะอักเสบติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย
มีผลข้างเคียงจากนิ่วในกระเพาะปัสสาวะอย่างไร?
ผลข้างเคียงจากนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ คือ ทางเดินปัสสาวะอุดตันจากก้อนนิ่วหลุดเข้าท่อปัสสาวะ (ปวดท้องรุนแรง ปวดเบ่งปัสสาวะมาก ปัสสาวะไม่ออก ทั้ง นี้อาการต่างๆเกิดอย่างเฉียบพลัน และมักรุนแรงจนต้องพบแพทย์เป็นการฉุกเฉิน) และกระเพาะปัสสาวะอักเสบติดเชื้อเรื้อรัง (เป็นได้ทั้งสาเหตุ และผลข้างเคียง) และบางครั้งถ้าก้อนนิ่วอยู่ในตำแหน่งอุดกั้นปากท่อไตที่เปิดเข้ากระเพาะปัสสาวะ อาจส่งผลให้เกิดภาวะไตอักเสบติดเชื้อเรื้อรัง และไตวายได้ นอกจากนั้น การอัก เสบติดเชื้อของกระเพาะปัสสาวะจากนิ่ว อาจลุกลามเป็นการอักเสบติดเชื้อของไต และ/หรือการติดเชื้อในกระแสโลหิต (เลือด)ได้
นิ่วในกระเพาะปัสสาวะรุนแรงไหม?
โดยทั่วไป นิ่วในกระเพาะปัสสาวะเป็นโรคไม่รุนแรง รักษาได้เสมอ แต่โรคจะรุนแรงขึ้น เมื่อมีนิ่วในไตร่วมด้วย หรือมีผลข้างเคียงดังกล่าว
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
การดูแลตนเองและการพบแพทย์เมื่อมีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ คือ
- ปฏิบัติตามแพทย์และพยาบาลแนะนำ
- ดื่มน้ำมากๆ อย่างน้อยวันละ 2 ลิตร เมื่อไม่มีโรคที่ต้องจำกัดน้ำดื่ม หรือดื่มน้ำตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ
- จำกัดอาหารที่มีออกซาเลตสูง
- ไม่ซื้อแคลเซียมเสริมอาหารกินเอง ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
- ป้องกันการเกิดเป็นนิ่วซ้ำ (โอกาสเกิดสูง) หลังรักษาหายแล้ว ดังจะกล่าว ถึงในหัวข้อ การป้องกันนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
- พบแพทย์ตามนัดเสมอ และรีบพบก่อนนัดเมื่อมีอาการต่างๆเลวลง หรือ ผิด ปกติไปจากเดิม
- รีบพบแพทย์เสมอ เมื่อมีอาการทางปัสสาวะ และอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน หลังดูแลตนเอง เช่น ปวด เบ่ง ขัด สะดุด มีเลือด
ป้องกันนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้อย่างไร?
วิธีป้องกันนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ รวมทั้งการป้องกันนิ่วย้อนกลับเป็นซ้ำ ที่สำคัญ คือ
- ดื่มน้ำสะอาดมากๆ แพทย์บางท่านแนะนำวันละประมาณ 2 ลิตร บางท่านให้ อย่างน้อยไม่ต่ำกว่าวันละ 10 แก้ว
- ไม่กลั้นปัสสาวะ เพื่อลดการคั่งค้างของปัสสาวะ และลดโอกาสเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- จำกัดอาหารที่มีออกซาเลตสูง
- กินแคลเซียมเสริมอาหารเฉพาะตามคำแนะนำของแพทย์
- เมื่อมีอาการผิดปกติทางการถ่ายปัสสาวะ ควรพบแพทย์เสมอหลังดูแลตน เองแล้วไม่ดีขึ้นใน 2-3 วัน เพื่อป้องกันการเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง